การออกเสียงภาษาอังกฤษ (Pronunciation)
พ.อ.หญิงปัณฑิตา อัจฉริยาการุณ
หลายๆท่านคงมีประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจนัก เวลาที่ต้องสนทนาภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศ เนื่องจากชาวต่างประเทศไม่เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไป ทั้งๆที่หลายๆท่านก็มีความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดี แต่เวลาสนทนากับเจ้าของภาษาทีไรต้องมีการพูดซ้ำไปซ้ำมาอยู่เนืองๆ จนทำให้ขาดความมั่นใจในการสื่อสารไปเลย คนไทยส่วนใหญ่เวลาออกเสียงภาษาอังกฤษจะเน้นทุกพยางค์ให้ชัดเจน เหมือนกับที่เราออกเสียงภาษาแม่ในที่นี้คือ ภาษาไทยนั่นเอง ภาษาไทยจัดว่าเป็น syllable-timed language คือเป็นภาษาที่ออกเสียงเน้นหนักเท่ากันทุกพยางค์ในคำ และทุกคำในประโยค ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการออกเสียงภาษาอังกฤษ ซึ่งยังไม่ค่อยถูกต้องนัก เช่น คำว่า tiger หลายคนคุ้นกับการออกเสียงว่า ไท เก้อร จะเน้นหนักทั้งสองพยางค์ จริงๆแล้วคำนี้เจ้าของภาษาจะออกเสียงว่า TI-ger (ไท้ - เกอะ) จะเน้นเสียงหนักพยางค์แรก ส่วนพยางค์ที่สองจะออกเสียงเบาๆที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากภาษาอังกฤษจัดได้ว่าเป็น stress-timed language คือ จะออกเสียงเน้นหนักเฉพาะบางพยางค์ในคำ (WORD STRESS)หรือคำที่ต้องการเน้นในประโยค (SENTENCE STRESS) ส่วนพยางค์หรือคำที่ไม่เน้นเสียงหนักจะมีการลดเสียงสระและพูดรวบรัดเหมือนพูดอยู่ในลำคอ ดังนั้นคนไทยควรให้ความสำคัญกับการเน้นเสียงหนักในคำที่มีตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไป การออกเสียงภาษาอังกฤษนั้นจะต้องรู้วิธีการออกเสียงพยัญชนะและสระในภาษาอังกฤษให้ถูกต้องด้วย เช่น เสียง
/ f / เวลาออกเสียงจะใช้ฟันบนสัมผัสริมฝีปากล่างแล้วเปล่งเสียงให้ลมมันเสียดแทรกออกมา โดยมีการสั่นที่เส้นเสียงด้วย ฟังดูคล้ายๆเสียง / ฟ / อย่างไรก็ตามบทความนี้จะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องพยัญชนะและสระ แต่จะขอกล่าวถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกันในการออกเสียง นั่นคือ การเน้นเสียงหนักเฉพาะพยางค์ในคำ (Stress) การเน้นเสียงหนักในคำที่ต้องการเน้นในประโยค (SENTENCE STRESS) ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายๆท่านยังไม่คุ้นเคยเท่าใดนัก แต่ท่านจะได้วิธีการออกเสียงให้ถูกต้องเพื่อนำกลับไปฝึกเอาเองเวลาท่านมีโอกาสโดยไม่ยากเย็นนัก
การเน้นเสียงหนักในภาษาอังกฤษหมายถึง การออกเสียงพยางค์ที่กำหนดไว้ดังกว่า ยาวกว่า ชัดกว่าพยางค์อื่นๆที่ไม่ได้เน้น การเน้นเสียงหนักแบ่งเป็น ๓ ระดับคือ การเน้นเสียงหนักมาก (primary stress แทนโดยใช้ตัวหนา) เช่น คำว่า Notice (โน้ ทิส) การเน้นเสียงหนักพอประมาณ (secondary stress แทนโดยใช้ตัวเอียง) ส่วนใหญ่จะพบในคำที่มีตั้งแต่สองพยางค์หรือมากกว่า เช่น คำว่า ExplaNation และ UNderSTAND การไม่ลงเสียงหนัก (weak stress) เช่น คำว่า attempt (เออะเท้มท์) พยางค์แรกจะไม่ลงเสียงหนัก คำทุกคำในภาษาอังกฤษต้องมี การเน้นเสียงหนักมากหนึ่งพยางค์ แต่ไม่ใช่ทุกคำจะมีการเน้นเสียงหนักทั้ง ๓ ระดับ หลายคำมีแค่ primary stress และ secondary stress เช่น HEADACHE ACCENT
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคำแต่ละคำจะเน้นเสียงหนักพยางค์ใด เพราะว่าคำศัพท์ในภาษาอังกฤษมีมากมายจนนับไม่ถ้วน วิธีที่ดีที่สุดคือการมีพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ภาษาอังกฤษ(English-English Dictionary)ไว้ดู ซึ่งเมื่อเปิดดูคำศัพท์แต่ละคำ เราจะเห็นสัญลักษณ์ Phonetics ที่แสดงการออกเสียง รวมถึงการเน้นเสียงหนักในคำให้ดูด้วย อย่างไรก็ตามก็มีหลักให้จดจำดังนี้
- คำนามที่มี สองพยางค์ส่วนใหญ่ จะออกเสียงเน้นหนักพยางค์แรก เช่น DOCtor FARmer DENtist TEAcher TYpist IMport TOOTHbrush เป็นต้น
- คำนามที่มีสองพยางค์หลายๆคำ เป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยา ถ้าทำหน้าที่เป็นคำนามจะออกเสียงเน้นหนักพยางค์แรก ถ้าทำหน้าที่เป็นคำกริยาจะออกเสียงเน้นหนักพยางค์หลัง
Written word
|
Noun |
Verb |
||
การออกเสียง |
ความหมาย |
การออกเสียง |
ความหมาย |
|
desert |
เดส เซิ่ด |
ทะเลทราย |
ดิ เซิร์ท |
ทิ้ง ละทิ้ง |
progress |
โพ้ร กริสซ |
ความก้าวหน้า |
เพรอะ เกรสซ |
ทำให้ก้าวหน้า |
produce |
โพ้ร ดยูสซ |
ผักผลไม้สด |
เพรอะ ดยูสซ |
ปลูก ผลิต |
present |
เพ้ร ซึ่นท์ |
ของขวัญ |
พรี เซ้นท์ |
ให้ มอบ |
record |
เร็ค เขิ่ด |
บันทึก (ความจริง เหตุการณ์) |
ริ คอร์ด |
จดบันทึก |
ที่มา: หนังสือ English Phonetics, ผศ.เยาวลักษณ์ ยิ้มอ่อน
- คำกริยาและคำคุณศัพท์ที่มี สองพยางค์ ให้ออกเสียงเน้นหนักคำที่เป็น รากศัพท์
-คำเหล่านี้ รากคำศัพท์อยู่ที่พยางค์ที่สอง เช่น
คำกริยา (Verb) |
appear explain forget reserve believe |
คำคุณศัพท์ (Adjective) |
alive complete enough remote extreme |
-คำเหล่านี้ รากศัพท์อยู่ที่พยางค์แรก เช่น
คำกริยา (Verb) |
Offer finish follow manage visit |
คำคุณศัพท์ (Adjective) |
Perfect honest even active pleasant |
-สำหรับคำที่มีสองพยางค์อื่นๆ อาทิ คำกริยาวิเศษณ์ และคำบุรพบท ให้ออกเสียงเน้นหนักพยางค์ที่เป็นรากคำศัพท์ เช่น
คำกริยาวิเศษณ์ (adverb) |
above below before indeed often later |
คำบุรพบท (preposition) |
beside except |
- รากศัพท์ (Root word) และปัจจัย (Prefixes) และอุปสรรค (Suffixes)
- คำที่ขึ้นต้นด้วย prefix: dis- , in- , re- , im- , non- , un- การออกเสียงเน้นหนักจะเหมือนกับรูปเดิม เช่น
Prefix |
Examples |
dis- in- re- im- non- un- |
disappear disagree disappoint incomplete incorrect indirect rearrange reproduce reunite impossible immoral impolite nonexistence nonessential nonresidential unjust unequal unhappy |
- คำที่ลงท้ายด้วย suffix : - ful, - ment, - ness, - able, - en, - less, - al, - ing,
- ly การออกเสียงเน้นหนักจะเหมือนกับรูปอืนที่เป็นคำนาม คำกริยาของคำเหล่านี้ เช่น
Suffix |
Examples |
- ful - ment - ness - able - en - less - al - ing - ly |
beautiful graceful delightful announcement development management kindness happiness foolishness reasonable enjoyable believable harden blacken straighten harmless careless hopeless national personnal refusal amazing boring interesting hurriedly lovely correctly |
- จะออกเสียงเน้นหนักในคำที่ลงท้ายด้วย suffix ดังต่อไปนี้ - ee, - eer, -ese เช่น
Suffix |
Examples |
- ee - eer - ese |
refugee trainee employee engineer career electioneer Japanese Chinese Portugese |
- คำนามสองคำหรือคำคุณศัพท์กับคำนามรวมกัน ส่วนใหญ่จะเน้นเสียงหนักพยางค์หน้า เช่น letterbox, desktop, post office, strawberry, postman
- คำที่ลงท้ายด้วย -tion, -sion, -cian, -ic, -ial, --ual, -ian, -ient, -eous, itive, -itude, -meter เวลาออกเสียงจะเน้นเสียงหนักที่พยางค์หน้าคำเหล่านี้ เช่น solution, technician erosion(อิ โรว ชึน),
mechanic(เหมะ แค้ นิค, industrial(อิน เดอส เทรียล), gradual(แก้ร ดยูออล), ingredient(อิน กรี้ เดียน), gorgeous(ก๊อ เจอส)
- คำที่ลงท้ายด้วย -ity, -ology, -logy, -graphy เวลาออกเสียงจะเน้นเสียงหนักที่พยางค์หน้าคำเหล่านี้ เช่น community(เคอม หมู้ นิ ติ่), biology(ไบ ออ เลอะ จี), astrology(เออส ตร๊อ เลอะ จี), geography(จิ อ๊อ เกรอะ ฟี)
การออกเสียงของสระก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน กล่าวคือพยางค์ใดก็ตามที่ไม่ได้รับการเน้นเสียงหนัก หรือพยางค์ที่ไม่ออกเสียง เสียงสระจะ
ถูกลดลงครึ่งหนึ่ง คือลดการออกเสียงของสระ ภาษาอังกฤษเรียกว่า (VOWEL REDUCTION) สระที่อยู่ในพยางค์ที่ไม่เน้นเสียงหนัก จะออกเสียงเหลือแค่ สระเออะ หรือ สระอิ เท่านั้น เช่น balloon จะออกเสียงว่า เบอะลูน คนไทยหลายคนชินกับการออกเสียงว่า บอลลูน ซึ่งเวลาได้ยินเจ้าของภาษาพูดว่า เบอะลูน เลยไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร คำนี้พยางค์แรกไม่เน้นเสียงหนัก เสียงสระจึงลดลงเป็น เสียงเออะ
นอกจากการเน้นหนักเฉพาะพยางค์ในคำ (WORD STRESS) แล้ว ยังมีการออกเสียงเน้นคำในประโยค (SENTENCE STRESS) จะอยู่ที่คำที่ให้ความหมายสำคัญในประโยค (content words) ซึ่งอยู่ในรูปของ คำนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำปฎิเสธ ส่วนคำประกอบที่ไม่สำคัญ function words ก็ได้แก่ คำนำหน้าคำนาม (articles) คำสรรพนาม (pronouns) คำกริยาช่วย (auxiliary verb) คำบุพบท (prepositions) คำสันธาน (conjunctions) เวลาออกเสียงคำเหล่านี้ ก็จะไม่เน้นเสียงหนัก อย่างไรก็ตาม การออกเสียงเน้นคำในประโยค(SENTENCE STRESS) จะมีอยู่ 2 ระดับคือ คำที่ให้ความหมายสำคัญในประโยค (content words) คำสุดท้ายที่อยู่ท้ายประโยค จะออกเสียงเน้นหนักมาก (primary stress) ส่วนคำอื่นๆที่ให้ความหมายสำคัญในประโยคจะออกเสียงเน้นหนักพอประมาณ (secondary stress) ลองดูประโยคตัวอย่าง
ดังต่อไปนี้
- A fish is swimming in a tank.
ออกเสียงว่า เออะ ฟิช อิส สวิมมิ่ง อิน เออะ แทงค์
ในประโยคนี้ มี content word อยู่ 3 คำคือ fish และ swimming จะออกเสียงเน้นหนักพอประมาณ (secondary stress) ส่วนคำว่า tank จะออกเสียงเน้นหนักมาก(primary stress) ส่วนคำที่เหลือคือ a, is, in เป็นส่วนคำประกอบที่ไม่สำคัญ function words เวลาออกเสียงจะไม่เน้นหนัก และเปล่งเสียงเบาๆ ส่วนเสียงสระจะลดลง
โปรดพึงระลึกไว้เสมอว่า แม้ว่าเราจะมีความรู้ทางไวยากรณ์แม่นยำมากแค่ไหน แต่ถ้าขาดความรู้ในการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้การติดต่อสื่อสารประสบความสำเร็จ การออกเสียงภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกต้องอาจจะทำให้คู่สนทนาเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนได้ ขออย่าไปกังวลเรื่องสำเนียงว่าจะต้องให้เหมือนชาวอเมริกันหรือชาวอังกฤษ ขอให้ออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักทฤษฎีก็น่าจะเพียงพอแล้ว
***********************************